ห้องสมุดประชาชนอำเภอเนินขาม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเนินขาม

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

บทที่ 1


ประวัติความเป็นมาของตำบลเนินขาม



ลาวเนินขามเรียกอีกอย่างว่าลาวไทคั่งหรือไทครั่ง ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะเป็นกลุ่มของคนโบราณ

มีเชื้อสายจากหลวงพระบาง เมื่อครั้งราชกาลที่ 3 อพยพมาจากเวียงจันทร์ในสมัยกรุงธนบุรีเข้ามาอาศัย

อยู่ในจังหวัด สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร จะพูดภาษาคล้าย

กันแต่ประเพณีจะแตกต่างกันออกไป

ความเป็นมาของคนเนินขามเล่ากันมาเป็นทอด ๆ ว่าลาวเวียงจันทร์ได้แตกอพยพมาจากบ้านโข้ง

บ้านขาม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีมาอยู่บริเวณที่ดินสูงน้ำท่วมไม่ถึง(เนิน) ติดหนองน้ำที่มีชื่อว่า

“หนองแห้ว” ปลูกบ้านบุกเบิกถากถางที่ลุ่มที่พอจะทำนาข้าวได้ซึ่งอยู่ล้อมรอบของเนินที่ปลูกบ้านและอยู่อาศัยและมีวัด พระเข้ามาจำพรรษาเป็นจำนวนมากทำให้ เนินหนองแห้วมีพื้นที่ไม่พออยู่อาศัย จึงมีประชากรแยกออกมาอยู่ดอนขามติดกับลำห้วยมีต้นมะขามใหญ่โคนต้นประมาณ 3 เมตร จึงได้ย้ายวัดหนองแห้วมาอยู่เนินขาม พลเมืองหนาแน่นจึงเกิดเป็นตำบลเนินขามซึ่งอยู่ใกล้กับตำบลบ้านเชี่ยน บรรพบุรุษครั้งที่เกิดรุ่นนั้นได้ล้มหาย ตายจากไปหมดเหลือเพียงลูกหลานได้เกิดจากชาวตำบลเนินขาม

ตำบลเนินขาม ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อ พ.ศ. 2538

และปัจจุบันได้รับการยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นเทศบาลตำบลตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม

พ.ศ. 2550 มีนายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกสภาเทศบาลตำบลที่มาจากการเลือกตั้ง

จำนวนทั้งสิ้น 12 คน



สภาพทั่วไป

ที่ตั้ง

เทศบาลตำบลเนินขาม ตั้งอยู่เลขที่ 218 หมู่ที่ 14 มีเนื้อที่ประมาณ 118 ตารางกิโลเมตร (19,121 ไร่)



อาณาเขตติดต่อ

 ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเด่นใหญ่ ตำบลไพรนกยุง

 ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ่อกรุง ตำบลหัวนา จังหวัดสุพรรณบุรี

 ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท

 ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกะบกเตี้ย ตำบลสุขเดือนห้า

อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท





ลักษณะภูมิประเทศ

เป็นที่ราบลุ่มและที่ราบสูงเชิงเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ



จำนวนหมู่บ้าน

เทศบาลตำบลเนินขาม ประกอบด้วยหมู่บ้าน 19 หมู่บ้าน มีพื้นที่อยู่ในเทศบาลตำบลเต็มทั้ง

19 หมู่บ้าน ดังนี้



หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ประมาณ ( ตร.กม. )

1 บ้านเนินขาม 0.22

2 บ้านเนินขาม 1.09

3 บ้านหนองแห้ว 3.50

4 บ้านหนองศาลา 2.57

5 บ้านหนองระกำ 0.12

6 บ้านหนองระกำ 9.50

7 บ้านหัวตอ 5.70

8 บ้านน้อย 1.50

9 บ้านทุ่ง 2.50

10 บ้านเขาราวเทียน 9.50

11 บ้านกลาง 20.06

12 บ้านโป่งมั่ง 6.64

13 บ้านหนองแก่นมะเกลือ 11.00

14 บ้านทุ่งสด 8.81

15 บ้านหนองมะนาว 6.74


16 บ้านรังกระโดน 12.50

17 บ้านทุ่งใหม่ 0.11

18 บ้านโป่งกำแพง 5.00

19 บ้านลานดู่ 10.94

รวม 118







จำนวนประชากร

ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนพฤษภาคม 2550





หมู่ที่

ชื่อหมู่บ้าน

จำนวนประชากร จำนวน

หลังคาเรือน

(หลังคา)

ชาย หญิง รวม

1 บ้านเนินขาม 182 227 411 121

2 บ้านเนินขาม 112 166 278 93

3 บ้านหนองแห้ว 94 106 200 74

4 บ้านหนองศาลา 119 139 258 83

5 บ้านหนองระกำ 189 200 389 149

6 บ้านหนองระกำ 296 316 612 190

7 บ้านหัวตอ 136 159 295 94

8 บ้านน้อย 194 210 404 171

9 บ้านทุ่ง 146 195 341 117

10 บ้านเขาราวเทียน 192 198 390 153

11 บ้านกลาง 231 225 486 162

12 บ้านโป่งมั่ง 120 112 232 81

13 บ้านหนองแก่นมะเกลือ 185 185 370 120

14 บ้านทุ่งสุด 231 190 403 163

15 บ้านหนองมะนาว 121 134 255 82

16 บ้านรังกระโดน 76 74 150

42

17 บ้านทุ่งใหม่ 115 142 257 73

18 บ้านโป่งกำแพง 131 140 271 70

19 บ้านลานดู่ 123 126 249 72

รวมทั้งสิ้น 2,977 3,274 6,251 2,110



ข้อมูล : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง







ลักษณะภูมิอากาศ



อำเภอเนินขาม มีภูมิอากาศแบบภาคกลาง อยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่านประจำฤดู ทำให้แบ่งออกเป็น 3 ฤดู

1. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นพัดจากมหาสมุทรอินเดียผ่านอ่าวไทย ปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกทั่วไป

2. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดเอาความแห้งแล้งและหนาวเย็นจากประเทศจีน

3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ระยะนี้เป็น100

ระหว่างของฤดูมรสุม

จึงมีลมจากทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้อากาศร้อนอบอ้าว ทั่วไปอุณหภูมิโดยเฉลี่ย

ประมาณ 19 – 30 องศาเซลเซียสฝนตกเฉลี่ยประมาณ 990.14 มิลลิเมตรต่อปี





ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทรัพยากรน้ำ



เขตเทศบาลตำบลเนินขาม มีห้วยโรงไหลผ่านทางทิศเหนือของเทศบาตำบลเนินขามโดยไหลมาจากเขตตำบลสุขเดือนห้า ลักษณะเป็นน้ำหลากจากที่สูง(เขตตำบลกะบกเตี้ย) ปนกับน้ำฝนที่ขังอยู่ตามทุ่งนา ไร่ จึงไหลลงมาในห้วยโรงทำให้มีปริมาณมากในฤดูฝน บางครั้งมีปริมาณมากเกินกว่าห้วยโรงจะรับได้ก็จะท่วมที่นา ที่ไร่ของราษฎรที่อยู่โดยรอบห้วยโรงได้ การเก็บกักรักษาน้ำเพื่อการเกษตรนั้นสามารถทำได้ในบางจุด เช่น ฝายวังก้นหวด นอกนั้นจะกักเก็บได้เล็กน้อยเนื่องจากลำห้วยโรงส่วนใหญ่จะตื้นเขิน สภาพดินไม่อุ้มน้ำ ราษฎรจึงต้องอาศัยบ่อบาดาลประจำหมู่บ้าน บ่อน้ำตื้นเขินและสระน้ำสาธารณะและที่เป็นของส่วนบุคคลเพื่อบรรเทาการขาดน้ำเพื่อการอุปโภค ส่วนน้ำเพื่อการบริโภคน้ำราษฎรบางส่วนจะนิยมดื่มบ่อน้ำ น้ำฝนหรือน้ำดื่มตามท้องตลาดทั่วไป











ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น



เขตเทศบาลตำบลเนินขามส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมรุนแรงเมื่อเทียบกับชุมชนเมืองใหญ่ ประกอบกับยังขาดโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตเทศบาล



สภาพทางเศรษฐกิจ

อาชีพ

ประชากรส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลตำบลเนินขามประกอบอาชีพ ทำนา , ทำไร่ , รับจ้าง , ทอผ้า





หน่วยธุรกิจในเขตเทศบาลตำบล



ประเภทธุรกิจ จำนวน(แห่ง)

ปั๊มน้ำมันและก๊าซ 5

โรงสีข้าว 1

โรงสีขนาดย่อม 1







การใช้ที่ดิน

พื้นที่ในเขตส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรลักษณะทั่วไปของประชาชนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 60,903 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว(นาน้ำฝน) 41,690 ไร่

พื้นที่ปลูกพืชไร่(ผสม) 13,690 ไร่ พื้นที่ปลูกอ้อย 5,400 ไร่ พื้นที่ป่าแดงเสื่อมโทรม 117 ไร่ และพื้นที่ หมู่บ้าน 347 ไร่





สภาพทางสังคม

ประชากร

ประชากรทั้งสิ้น 6,251 แยกเป็นประชากรชายจำนวน 2,977 ประชากรหญิงจำนวน 3,274 คน

มีความหนาแน่นเฉลี่ย 52.97 คน/ตร.กม. มีจำนวนหลังคาเรือน 2,110 (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2550)





การศึกษา



ภายในเขตมีการจัดการศึกษาออกเป็น 2 ระบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียนและ

การศึกษานอกระบบโรงเรียน



การศึกษา

ในระบบโรงเรียน จำนวนโรงเรียน

(แห่ง) ชื่อโรงเรียน ที่ตั้ง

- ระดับประถมศึกษา 2 - ร.ร. อนุบาลเนินขาม หมู่ที่ 1 ตำบลเนินขาม

- ร.ร. เขาราวเทียนทอง หมู่ที่ 10 ตำบลเนินขาม

- ระดับมัธยมศึกษา 1 - ร.ร. เนินขามรัฐประชานุเคราะห์ หมู่ที่ 8 ตำบลเนินขาม

- ระดับอาชีวศึกษา 1 - วิทยาลัยการอาชีพเนินขาม หมู่ที่ 14 ตำบลเนินขาม



ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน

- ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลเนินขาม

- ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน/ห้องสมุดประชาชน จำนวน 2 แห่ง













ศาสนา



ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในเขตเทศบาลตำบลเนินขาม มีวัดจำนวน 2 แห่ง และ

สำนักสงฆ์จำนวน 2 แห่ง ได้แก่



ชื่อวัด/สำนักสงฆ์ ที่ตั้ง

1. วัดเนินขาม หมู่ที่ 1 ตำบลเนินขาม

2. วัดเขาราวเทียนทอง หมู่ที่ 10 ตำบลเนินขาม

3. สำนักสงฆ์บ้านหัวตอ หมู่ที่ 7 ตำบลเนินขาม

4. สำนักสงฆ์บ้านโป่งมั่ง หมู่ที่ 12 ตำบลเนินขาม

ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม



ประชาชนมีขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมตามแบบโบราณของชาวตำบลเนินขาม คือ

ประเพณีสงกรานต์ สารทลาว





สาธารณสุข



- สถานีอนามัย 2 แห่ง คือ สถานีอนามัยเนินขาม และสถานีอนามัยเขาราวเทียนทอง

- อัตราการมีและการใช้ส้วมราดน้ำ คิดเป็นร้อยละ 100













































การปกครอง



การจัดเทศบาลตำบลเนินขาม ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ สภาเทศบาลตำบลเนินขาม

ประกอด้วยสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเนินขาม จำนวน 12 คน และคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลเนินขาม

จำนวน 5 คน



ทำเนียบผู้บริหาร

นายมานิตย์ พิมพ์สวัสดิ์ (พ.ศ. 2538 - กรกฎาคม 2542)

นายประยูร เพ็งสวย (สิงหาคม 2542 - กรกฎาคม 2546)

นายมานิตย์ พิมพ์สวัสดิ์ (เมษายน 2547 - กรกฎาคม 2547)

นายจรูญ จินดารัตน์ (สิงหาคม 2547 – สิงหาคม 2550)

นายจรูญ จินดารัตน์ (กันยายน 2550 - ปัจจุบัน)



ฝ่ายบริหารเทศบาลตำบลเนินขาม

คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเนินขาม จำนวน 5 คน ประกอบด้วย

1. นายจรูญ จินดารัตน์ นายกเทศมนตรี

2 นางทิวา เลิศสุวรรณสิทธิ์ รองนายกเทศมนตรี

3. นายบุญเส่ย เพ็งสวย รองนายกเทศมนตรี

4. น.ส. ทองสิน พุ่มจำปา ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี

5. นายศิระ เอี่ยมงาม เลขานุการนายกเทศมนตรี



ฝ่ายสภาเทศบาลตำบลเนินขาม มีจำนวน 12 คน ประกอบด้วย

1. นางอุษา บุญสาพิพัฒน์

2. นายสมบัติ ดีเสมอ

3. นายปิยพงษ์ ศรีเดช

4. นายวันชัย พุ่มจำปา

5. นายวารินทร์ พุ่มจำปา

6. นายอติพล พุ่มจำปา

7. นางสุจิราพันธ์ ภัทรธรรมพงษ์

8. นายประสิทธิ์ มิ่งสกุล

9. นางตุ๊ก เพ็งสวย

10. นายดำรง แก้วสุข

11. นายสำอาง สิงห์สม

12. นายเกียรติคุณ พุ่มจำปา



ประธานสภาเทศบาลตำบล นายสำอาง สิงห์สม

รองประธานสภาเทศบาลตำบล นายสมบัติ ดีเสมอ

เลขานุการสภาเทศบาลตำบล นายเกียรติ พุ่มจำปา



อัตรากำลังบุคลากร

พนักงานส่วนตำบล จำนวน 8 คน

ลูกจ้างประจำ จำนวน 1 คน

พนักงานจ้าง จำนวน 17 คน









































บทที่ 2

แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าบ้านเนินขาม



ประวัติความเป็นมาทอผ้าบ้านเนินขาม

ในอดีตสตรีชาวไทคั่ง ไทเวียง มีการทอผ้าเพื่อใช้ในครอบครัวแทบทุกครัวเรือน เมื่อว่างจากการทำนาทำไร่ และงานบ้านต่าง ๆ ประจำวันแล้วจะต้องเตรียมวัสดุในการทอผ้าทุกขั้นตอน เริ่มจากปลูกฝ้ายเมื่อเริ่มฤดูฝนพร้อมกับทำนา ประมาณ 6 เดือน เก็บดอกฝ้ายเมื่อแก่จัดประมาณ 11 เดือน เก็บเฉพาะปุยฝ้ายใส่กระบุงเพื่อแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย (อิ้วฝ้าย) และทำให้ปุยฝ้ายขึ้นฟู (ดีดฝ้าย) ปั่นเป็นเส้นด้าย (เข็นฝ้าย) ม้วนเป็นขดหรือไจ ฟอกสี ย้อมสี กรอเข้าหลอดเส้นยืน เส้นพุ่ง เดินด้ายเข้ากี่ เก็บตะกอ ทอเป็นผืนผ้า

ปัจจุบันชาวไทคั่ง และไทเวียงซื้อ ด้ายฝ้าย ไหม และเส้นด้ายประดิษฐ์สำเร็จรูปที่ขายเป็นไจ มีทั้งยังไม่ย้อมสีและย้อมสีสำเร็จมาใช้ในการทอผ้า โดยการรวมกลุ่มกันสั่งซื้อหรือไปซื้อเองจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ หรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี สุรินทร์ ฯ เป็นการลดขั้นตอนการผลิตผ้าลง การปลูกฝ้ายและเลี้ยงไหมได้หมดไปจากสองชุมชนกว่า 40 กว่าปีแล้ว



วัฒนธรรมความเชื่อ



ภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์งานทอชาวไทคั่ง ไทเวียง มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทาน ศีล ภาวนา และความเชื่อในสิ่งลึกลับ เช่น ผีสาง เทวดา ผีบรรพบุรุษ เช่นสรวงแม่โพสพ ความเชื่อในเรื่องดังกล่าว เป็นความบันดาลใจของช่างทอที่แฝงความหมายอยู่ในลวดลายที่สร้างสรรค์ออกมาบนผืนผ้าประเภทต่าง ๆ เช่น

- ลายนาค เชื่อว่าในแม่น้ำทุกสายจะมีพญานาคอาศัยอยู่

- ลายหงส์ เป็นสัญลักษณ์การสืบสกุลสาบ “พ่อ” แสดงถึงความสง่างาม

- ลายสิงห์ แสดงถึงความน่าเกรงขาม สง่างาม การปกป้องคุ้มครอง

- ลามม้า แสดงถึงความว่องไว ปราดเปรียว ความสง่างาม

- ลายช้าง แสดงถึงความยิ่งใหญ่ น่าเกรงขามมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์

- ลายคชสีห์(ตัวมอม) เป็นสัตว์ผสมระหว่างสิงโตกับช้าง ใช้เป็นสัญลักษณ์แทน พ่อแม่

คอยปกป้องดูแลลูก แสดงถึงความยิ่งใหญ่ สง่างาม

- ลายดอกไม้ เช่นดอกพุดแสดงถึงความงามความละเอียดอ่อน ดอกแก้วดอกจัน แสดง

ถึงความดีงาม และเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม

ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีหรือโอกาสพิเศษ



พิธีแต่งงาน ในอดีตการเตรียมผ้าสำหรับใช้ในพิธีแต่งงานของบุตรสาว แม่ ย่า ยาย หรือญาติจะเตรียมทอผ้าต่าง ๆ มากมาย เพื่อนำไปใช้ในพิธีแต่งงาน เริ่มตั้งแต่เตรียมเสื้อผ้าให้บุตรสาวใช้แต่งตัว เช่น

ซิ่นมัดหมี่ไหมตีนจก ผ้าตัดเสื้อ ผ้าสไบ ผ้าเช็ดหน้า รวมทั้งผ้าไหว้พ่อ แม่ ญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าบ่าว ผ้าที่จัดเตรียมไว้มีดังนี้

1. ผ้าไหว้พ่อเจ้าบ่าว จะได้รับผ้าไหว้เป็นที่นอน ผ้าโสร่งไหม ผ้าขาวม้าไหม ผ้าตัดเสื้อ หมอนเท้า หมอนน้อย แม่เจ้าบ่าวจะได้รับซิ่นมัดหมี่ไหมตีนจก ผ้าตัดเสื้อ สไบ ผ้าเช็ดหน้า

2. ผ้าที่เตรียมไว้ให้เจ้าบ่าวใช้แต่งตัวในพิธี เช่น ผ้าพุ่งไหม ผ้าม่วงโรง ผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ไหม ผ้าตัดเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

3. ผ้าไหว้ญาติพี่น้องเจ้าบ่าวจะได้รับผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าตัดเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า ซิ่นมัดหมี่ไหม ผ้าตัดเสื้อ หมอนเท้า หมอนน้อย เป็นต้น

4. ผ้าที่เตรียมไว้สำหรับใช้ในบ้านใหม่มีเครื่องนอน เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าล้อ (ผ้าปูที่นอน)

5. ผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหลังแต่งงานทั้งของเจ้าสาวและเจ้าบ่าวอีกมากมาย เช่นผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าตัดเสื้อ ผ้าเช็ดหน้า

การแต่งกายสำหรับไปงานโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น ไปร่วมพิธีแต่งงาน พิธีบวช ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรืองานมงคลต่าง ๆ มีการแต่งกายดังนี้

หญิง นุ่งซิ่นมัดหมี่ไหมตีนจก หรือนุ่งโจงกระเบนผ้าหางกระรอก สวมเสื้อสีขาว หรือเสื้อสีดำตัดจากฝ้ายหรือไหม แขนกระบอกหรือแขนยาว เสื้อตัวปล่อยชายสาบเสื้อ ตั้งแต่คอถึงชายเสื้อขลิบด้วยผ้าสีแดง ประดับกระดุมเงิน ใส่ต่างหูเงินติดใบหูหรือชนิดห้อยลงมา กำไลมือและเท้าเป็นเงินกลมเกลี้ยง นิยมใส่แหวนทุก ๆ นิ้ว สะพายย่าม ตัดผมสั้น

ชาย นุ่งผ้าม่วงโรง ผ้าพุ่งไหม ผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ไหม คาดเข็มขัดเงิน นาค ทอง สวมเสื้อสีขาว

คอกลม แขนสามส่วน มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ใส่แหวนสายสร้อยคอ



ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีศาสนา

ผ้าที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในพิธีศาสนามีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผ้าบางประเภทไม่มีการทอที่ยุ่งยากแต่มีกรรมวิธีอื่นที่ยุ่งยาก เริ่มจากการทอผ้าฝ้ายสีขาวซึ่งทอเก็บไว้เป็นพับหรือม้วนเป็นผ้าอเนกประสงค์เรียก ผ้าท่อน ตัดเย็บให้นาคใส่เข้าโบสถ์ในการทำขวัญนาค โดยนุ่งผ้าม่วง ผ้าพุ่งไหม ไหมมัดหมี่ นุ่งแบบจีบหน้านางคาดเข็มขัดเงิน นาด ทอง ตามฐานะ ห่มสไบขาวแทนเสื้อ หรือนำไปตัดเย็บย้อมสีเหลืองเพื่อตัดเย็บผ้า ไตรจีวร มีรายละเอียดของผ้าแต่ละชนิดดังต่อไปนี้

1. ผ้าไตรจีวร (ติจีวรํ) เป็นผ้าที่พุทธศาสนิกชนนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในงานมงคลและอัปมงคลต่าง ๆ เช่น ทอดกฐิน งานบวช งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น

2. ผ้าคลุมหัวนาค เป็นผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้คลุมหัวนาคขณะเวียนประทักษิณรอบพระอุโบสถ มีขนาดประมาณ 46 เซนติเมตร ทอด้วยฝ้ายหรือไหมสีขาว ทอขิดสลับจกด้วยลวดลายที่งดงาม ลายสัตว์ เช่น ลายสิงห์ ลายมอม จะพบบนผ้าชนิดนี้ มีชายครุยทิ้งชายทั้งสองด้าน

3. ผ้าทอคัมภีร์ ในอดีตความเชื่อในเรื่องอานิสงส์ของการถวายผ้าห่อคัมภีร์ถวายวัดเป็นพุทธบูชาจำนวนมาก เช่น ที่วัดศรีสโมสร ตำบลกุดจอก กิ่งอำเภอหนองมะโมง ส่วนมากจะทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีขาว ทอขิดสลับจกด้วยลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายสิงห์อย่างงดงามมีไม้ไผ่บาง ๆ สอดคั่นเพื่อเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงเป็นระยะ ๆ หรือทอผ้าด้วยมัดหมี่ไหมกุ๊นริมด้วยผ้าแดง ผ้าห่อคัมภีร์ในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ชำรุดจากการทำลายของแมลง หนู การเสื่อมสลายเองตาธรรมชาติ และการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี

4. ผ้าปูอาสนะ หมายถึง ผ้าปูหรือผ้ารองนั่งของพระสงฆ์ เพื่อใช้ในงานทำบุญโอกาสต่าง ๆ ทั้งที่วัดและที่บ้าน รูปแบบของผ้าปูอาสนะวัดศรีสโมสร ตำบลกุดจอกกิ่งอำเภอหนองมะโมง นิยมทอเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาว ทอขิดสลับจกด้วยลวดลายต่าง ๆ สำหรับพระสงฆ์นั่ง 1 รูป ขนาดความกว้างและยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะเฉพาะของผู้ปูอาสนะส่วนใหญ่จะใช้ผ้าสีดามโดยรอบ

5. ผ้าม่านติดธรรมมาสน์ของวัดศรีสโมสร ตำบลกุดจอก กิ่งอำเภอหนองมะโมง นางทองจาย จบศรี อายุ 84 ปี ช่างทอผู้อาวุโสได้ทอผ้าม่านติดธรรมมาสน์ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวน 4 ผืน สำหรับติดหน้ามุขทั้ง 4 ด้านของธรรมมาสน์ กว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร ชายด้านล่าง ร้อยลูกปัดเป็นสาย ติดภู่ระย้าทอด้วยวิธีทอขิดสลับจก

6. ผ้าม่านกั้นผนัง เพื่อนำมาใช้กั้นผนังด้านหลังของที่นั่งพระสงฆ์ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ทั้งที่วัดและที่บ้าน รูปแบบของผ้าม่านกั้นผนังวัดศรีสโมสรที่พบจำนวน 7 ผืน มีทั้งผ้าพุ่งไหม ผ้าโจงกระเบนมัดหมี่ไหมต่อกับผ้าพื้นสีต่าง ๆ ผ้าม่านสีขาวทอด้วนวิธีทอขิดสลับจกลวดลายต่าง ๆ ต่อกับผ้าพื้นสีน้ำเงิน เป็นต้น

7. หมอนเท้า คือ หมอนสามเหลี่ยมเรียกตามลักษณะใช้สอยในการพิงหรือเท้าแขนพักผ่อน ใช้คู่กับผ้าปูอาสนะ รูปแบบดั้งเดิมตัวหมอนเป็นลวดลายทอขิดสลับจก ส่วนหน้าหมอนจะเป็นผ้าพื้นเย็บเป็น 2 ลอนไม่ได้เย็บเป็นช่องสามเหลี่ยมต่อกันแบบที่พบทั่วไป

8. หมอนน้อย คือ หมอนหน้าหก หรือหมอนหน้าอิฐ พุทธศาสนิกชนทำขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์ไว้ใช้หนุนนอนและให้ญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรม รักษาศีลหรือค้างคืนที่วัดใช้หนุนนอน ทอขิดสลับจกมีความสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร







ประเภทของการทอผ้าบ้านเนินขาม



ภูมิปัญญาทั้งสองกลุ่มชนชาวไทคั่ง ไทเวียง ได้สรรค์สร้างผ้าทอประเภทต่าง ๆ อย่างหลากหลายและสวยงามยิ่งแล้วผ้าทอ จะมีลักษณะเฉพาะตามเชื้อสายของผู้ผลิตที่บ่งบอกว่าเป็นผ้าไทคั่ง ไทเวียง ไทพวน ไทดำ (ลาวโซ่ง) กรรมวิธีการทอผ้าพื้นบ้านของกลุ่มไทเชื้อสายต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน ซึ่งแยกประเภทเทคนิควิธีการทอได้ดังนี้



เชื้อสาย วิธีการทอ

ไทพวน

ไทยวน

ไทคั่ง,ไทเวียง

ไทคำ

ไทอีสาน ทอ ขิด จก

ทอ ยก จก

ทอ มัดหมี่ ขิด จก

ทอ ปัก

ทอ มัดหมี่ ขิด







ลักษณะเด่นเฉพาะของผ้าทอไทคั่ง ไทเวียง มี 3 ลักษณะดังนี้

1. ลักษณะเฉพาะประเภทเทคนิควิธีการทอ 4 วิธี

1.1 การทอพื้นฐาน เป็นวิธีการทอโดยใช้เส้นพุ่งขัดกับเส้นยืน เมื่อขึงเส้นยืนเข้ากับกี่เรียบร้อย แล้วใช้กระสวยซึ่งบรรจุหลอดเส้นพุ่งใส่ไว้ในร่องกระสวยพุ่งกระสวยจากขวาไปซ้าย สอดเส้นพุ่งสลับจากซ้ายไปขวา สลับกลับไปกลับมา เวลาสอด 1 ครั้ง ใช้เท้าเหยียบ 1 ครั้งแล้วใช้ฟันหวีกระทบเพื่ออัดเส้นพุ่งให้แน่น การทอพื้นฐานใช้ประกอบกับการทอทุกประเภท

1.2 การทอมัดหมี่ เป็นวิธีการทอที่ต้องนำเส้นด้ายหรือไหมที่เป็นเส้นพุ่งไปมัดให้เป็นลวดลายด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟางก่อนนำไปย้อมสี แล้วกรอเส้นพุ่งให้เรียงตามลวดลายใส่กระสวยนำไปทอพื้นฐานที่จะได้ลายมัดหมี่ทางด้านกว้าง เรียกว่ามัดหมี่เส้นพุ่ง

1.3 การทอขิด เป็นวิธีการทอโดยใช้ไม้เขี่ย หรือ สะกิดช้อนเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนขึ้น ตลอดแนวความกว้างของหน้าผ้า แล้วทอสลับจะทำให้เกิดลวดลายขึ้นในแต่ละแถวเป็นลายซ้ำ และมีสีเส้นพุ่งสีเดียวตลอดแนว

1.4 การทอจก เป็นวิธีการทอให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปโดยผูกหรือเกาะเป็นช่วง ๆ ขณะที่ทอไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า โดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยกหรือจกแยกเส้นยืนขึ้นหรือลง แล้วสอดเส้นพุ่งพิเศษสลับสีต่าง ๆ เข้าไปตามลวดลายตามความกว้างของเส้นยืน แล้วทอพื้นฐานสลับการทอผ้าจกของช่างทอทั้งสองชุมชนใช้วิธีผูกเก็บปมเส้นพุ่งพิเศษด้านบน (ผ้าด้านนอกจะอยู่ด้านล่าง)

2. ลักษณะเฉพาะด้านองค์ประกอบศิลป์

ผ้าทอของกลุ่มไทคั่ง ไทเวียง มีลักษณะเด่นแตกต่างจากผ้าทอของกลุ่มไทอื่น ๆ ดังนี้



 สี จากการใช้สีทั้ง 2 กลุ่ม ในอดีตจะใช้สีเพียง 5 สี โดยรวมเป็นสีวรรณร้อน (Warm Tone) เป็นโครงสีหลัก ได้แก่ สีแดงครั่ง ใช้มากกว่า 60 % สีเหลืองดอกคูณ สีเขียว สีส้มหมากสุก สีดำ ซึ่งเป็นสีตัดกัน (Contrast) ในเส้นยืนที่พื้นสีแดงจะใช้สีดำ เหลือง เขียว ส้ม ขาว ในเส้นยืนที่พื้นดำจะใช้สีแดงแทนดำ ในอดีตใช้สีธรรมชาติที่ได้จากพืชและสัตว์ย้อม ทำให้โครงสีส่วนรวมมีการประสานกลมกลืน (Harmony) สวยงาม ปัจจุบันช่างทอชาวไทคั่ง ไทเวียง ยังคงใช้สีหลักทั้ง 5 สี หรือใช้สีอื่น ๆ เพิ่ม และใช้สีย้อมจากสีสังเคราะห์ซึ่งย้อมง่ายกว่าสีธรรมชาติหรือไม่ก็ซื้อด้ายที่ย้อมสีแล้วมาทอซึ่งได้สีสันสดใสเจิดจ้า แต่กระด้าง ขาดความนุ่มนวลประสานกลมกลืน โครงสีส่วนรวมตัดกันอย่างรุนแรง ทำให้คุณค่าความงามลดลงน้อยลง

 เส้น ที่นำมาเป็นลวดลายโครงสร้าง ใช้ลายเลขาคณิตเส้นเฉียง เส้นหยักฟันปลา ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง เคลื่อนไหวอิสระ ความตื่นเต้นเร้าใจ การแสดงออกอย่างทื่อ ๆ ตรงไปตรงมา

 วัสดุ ที่ต่างกันนำมาใช้ร่วมกัน ได้แก่ ไหมที่นำมามัดหมี่ และทอเป็นตัวซิ่นไหมมีความนุ่มนวลมันวาว ให้ความรู้สึกนุ่มนวลบอบบางฝ้ายที่นำมาทอเป็นตีนซิ่นด้วยวิธีจก และขิด มีความหนาค่อนข้างหยาบให้ความรู้สึกหนัก หยาบ สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและสวยงามน่าตื่นตา ตื่นใจและเป็นการถ่วงความสมดุลกันระหว่างความเบาของ ตัวซิ่นและความหนักของตีนซิ่น ทำให้ในการสวมใส่ซิ่นเวลาเดินปลายผ้าไม่พลิกกลับเป็นการแสดงออกของภูมิปัญญาที่มีความชาญฉลาด ความเชี่ยวชาญการทอทั้งทอพื้นฐาน การทอผ้ามัดหมี่ การทอผ้าขิดและการทอผ้าจก การใช้สี เส้น วัสดุ ที่ตรงกันข้ามมาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมกลมกลืน และสวยงาม ความเด่นที่เกิดจากการขัดแย้งนี้เป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งต่างจากช่างทอผ้าของชาวไทกลุ่มอื่น ๆ

3. ลักษณะเฉพาะด้านลวดลาย

ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าทอชาวไทคั่ง ไทเวียง ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทุกกรรมวิธีการทอทั้งทอขิด ทอจกและทอมัดหมี่ จำแนกลายเป็น 4 ประเภท ดังนี้





3.1 ลายคน

3.2 ลายพันธ์ไม้ เช่น ลายดอกแก้ว ลายดอกน้อย ลายกาย (กลีบดอกไม้)

3.3 ลายสิ่งของเครื่องใช้ สถานที่ เช่น ลายขอ (ตะขอ) ลายช่อ (ร่ม) ลายขา เปีย (ชื่อเครื่องมือที่ใช้ในการกวักด้าย)

3.4 ลายสัตว์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

3.4.1 สัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ช้าง ม้า กวาง เต่า กะเบี้ย (ผีเสื้อ) บ่าง

3.4.2 สัตว์ในจินตนาการ เช่น มอม นาค หงส์





















































บทที่ 3

ส่งเสริมเผยแพร่และการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าบ้านเนินขาม



การทอผ้าของกลุ่มชาวไทคั่ง ไทเวียงนั้นมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งสืบทอดต่อกันมายาวนาน ควรอนุรักษ์อาไว้ การทอผ้าที่กล่าวมานั้น ทำให้เกิดผลดีต่อสังคมและชุมชนนำไปสู่แนวทางการส่งเสริมเผยแพร่ และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทคั่ง ไทเวียง



การส่งเสริมและการเผยแพร่การทอผ้า

1. สร้างความตะหนัก และความภูมิใจให้กับชุมชนเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมของตน เกิดการอนุรักษ์ และพัฒนาให้ดำรงคงอยู่ ปกป้องเพื่อไม่ให้เกิดการสูญหาย ซึ่งกระบวนการสร้างความตระหนัก และความภาคภูมิใจ อาจสร้างได้หลายวิธีการ คือ

1.1 สร้างบรรยากาศในครอบครัว พ่อแม่ปู่ยาตายายพูดคุย เล่าเรื่อง สั่งสอนลูกหลาน การนำมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน จัดเป็นการจัดเตรียมมรดกตกทอดให้ครอบครัว

1.2 การปลูกฝังจากครอบครัว โรงเรียนและชุมชน โดยครอบครัวจะสอนให้ลูกหลานทอผ้า เข้าใจถึงคุณค่าของผ้า และวัฒนธรรมของชุมชนที่มีมายาวนาน โรงเรียนควรจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และเห็นคุณค่า ชุมชนควรจัดงานแสดงทางวัฒนธรรม นำการแสดงหรือผลิตภัณฑ์ผ้าทอไปร่วมกับงานอื่น ๆ

1.3 ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมไทคั่ง ไทเวียง ประวัติความเป็นมา เอกลักษณ์ของเผาพันธ์ จะทำให้ประชนของ 2 ชุมชน ได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจเห็นคุณค่า และสร้างแหล่งการเรียนรู้หรือ พิพิธภัณฑ์ สำหรับให้ผู้สนใจได้ใช้ศึกษาค้นคว้า มาดูงานจะทำให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจ

1.4 การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แผ่นพับ แผ่นปลิว เอกสาร การจัดรายการทางวิทยุ ส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานอื่นเผยแพร่การจัดกิจกรรม การจัดผลผลิตจากผ้าทอเป็นของขวัญของฝาก เป็นต้น

1.5 การรณรงค์ให้ประชาชนในจังหวัดร่วมมือกันสวมใส่เสื้อผ้าที่ทอจากผ้าทอไทคั่ง ไทเวียง สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 วัน และเมื่อมีงานพิธีหรือราชการพิธีข้าราชการ และบุคคลสำคัญควรแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง

1.6 การให้ผ้าทอไทคั่ง ไทเวียงเข้าไปมีส่วนร่วม และมีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ในการแต่งกาย การจัดสถานที่ การจัดนิทรรศการ การจัดทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เป็นต้น



1.7 การเผยแพร่ผลงาน ผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้เป็นที่รู้จักทั่วกัน ด้วยการทำเป็นของฝากของที่ระลึกจำหน่ายในร้านค้า เสนอทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หน่วยงานราชการและเอกชนต่าง ๆ เช่น กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมศึกษานอกโรงเรียน ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หอการค้าจังหวัด SMEs เป็นต้น

1.8 การตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นหลาย ๆ กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน และควรมีกลุ่มเยาวชน เพราะกลุ่มนี้จะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป



2. การพัฒนาในเชิงอาชีและเศรษฐกิจ สิ่งใดก็ตาม เมื่อนำไปสู่การประกอบอาชีพหรือมีผลทางเศรษฐกิจ ย่อมจะได้รับการอนุรักษ์ไปในตัวเอว ซึ่งการพัฒนาด้านอาชีพและเศรษฐกิจนั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้

2.1 เปิดสอนวิชาชีพการทอผ้า ให้ผู้สนใจสามารถศึกษาหาความรู้แล้วนำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพได้ ผลงานจะได้มีต่อเนื่องและเกิดงานขึ้นใหม่เรื่อย ๆ

2.2 นำผ้าทอไทคั่ง ไทเวียง มาผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากการผลิตเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น กระเป๋า ผ้าปูโต๊ะ หมอน โคมไฟ ซองแว่นตา ของที่ระลึก ผลผลิตเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์แล้วยังเกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น

2.3 การรวมกลุ่มอาชีพทอผ้า และนำผ้าทอผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ มารวมกลุ่มประกอบอาชีพที่เข้มแข็งมีกระบวนการจัดการที่ดี ผ้าทอและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอก็จะเผยแพร่ไปในสถานที่ต่าง ๆ คนในชุมชนทั้ง 2 มีรายได้เพิ่มขึ้น

2.4 ร่วมงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานต่าง ๆ ทุกกิจกรรมที่มีการจัดงานมหกรรมต่าง ๆ เช่น งานนิทรรศการผ้า งานแสดงสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ งานกาชาด เป็นต้น เป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

2.5 การให้หน่วยงานราชการ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน กรมการศึกษานอกโรงเรียน เป็นต้น เข้ามาร่วมกิจกรรมและช่วยเหลือสนับสนุน ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์ สามารถพัฒนาคุณภาพสินค้า และเผยแพร่ ออกสู่สังคมในวงกว้างขึ้น

2.6 การที่ผ้าทอไทคั่ง ไทเวียง เป็นสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ผ้าทอเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์มีการพัฒนาที่ดีขึ้น



การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวทำให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม นำไปสู่การพัฒนาส่งเสริมให้ผ้าทอไทคั่ง ไทเวียงคงอยู่คู่ชุมชนทั้ง 2 ตลอดไป รวมทั้งขยายผลไปสู่การอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ไปด้วย





กลุ่มทอผ้าบ้านเนินขาม

ผลการดำเนินงาน



1. ภูมิหลังของกลุ่ม

ในอดีตประมาณช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สตรีชาวเนินขาม มีการทอผ้าเพื่อใช้ในครอบครัวแทบทุกครัวเรือนเมื่อว่างจากการทำนา ทำไร่ และงานบ้านประจำวัน การทอผ้าในสมัยก่อนมีจุดประสงค์เพื่อใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน และงานในพิธีหรือโอกาสพิเศษและเพื่อใช้ในพิธีศาสนา ได้แก่ ผ้าสบง ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าปูอาสนะ ผ้าม่านติดธรรมาสน์ หมอนเท้า หมอนน้อย

พ.ศ.2552 ชาวเนินขามบางส่วนได้รวมตัวกันเข้ารับการฝึกอบรมทอผ้า และได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้า ประธานกลุ่มขณะนั้นคือ น.ส. น้อย พุ่มจำปา



2. โครงสร้างองค์กร

ปัจจุบัน กลุ่มทอผ้าบ้านหนองระกำ หมู่ที่ 6 ต.เนินขาม มีสมาชิกทั้งสิ้น 24 คน คณะกรรมการบริหาร จำนวน 9 คน ดังนี้

2.1 นางวันทา เผือกผ่อง ประธานกรรมการ

2.2 นางสนอง สีวันนา รองประธานกรรมการ

2.3 น.ส. ระบาย ลีพา รองประธานกรรมการ

2.4 นางสุดา พุ่มจำปา เหรัญญิก

2.5 นางอำพันธ์ ศรีเดช ผู้ช่วยเหรัญญิก

2.6 นางวาสนา ทาเอื้อ ประชาสัมพันธ์

2.7 นางสายัณห์ ทาเอื้อ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์

2.8 นางสุวรรณ เอื้ออารีย์ เลขานุการ

2.9 นางทับทิม ยอดดำเนิน ผู้ช่วยเลขานุการ

(วันทา เผือกผ่องและผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546 )



3. พัฒนาการกลุ่ม

3.1 การจัดตั้งกลุ่มระยะแรก

พ.ศ. 2522 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดฝึกอบรมเรื่องการทผ้าและได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้า ซึ่งมี น.ส. น้อย พุ่มจำปา เป็นประธานกลุ่มทอผ้ามีกี่กระตุก 3 หลัง และกำนันหา ทองคำ ร่วมกับเจ้าอาวาสวัดเนินขามสนับสนุนการสร้างกี่ 10 หลัง หลังจากการจัดตั้งกลุ่มได้ดำเนินการทอผ้าแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กลุ่มล้มลุกคลุกคลาน จนในที่สุดต้องหยุดกิจการ

พ.ศ. 2526 กำนันมานิตย์ พิมพ์สวัสดิ์และอาจารย์สมบัติ แก้วเกิด ได้ร่วมกันฟื้นฟูกลุ่มทอผ้าขึ้นใหม่ โดยมีนางวันทา เผือกผ่อง เป็นประธานกลุ่ม จัดตั้งที่ทำการทอผ้าที่โรงเรียนชุมชนวัดเนินขาม พ.ศ. 2530 กลุ่มหยุดดำเนินการเนื่องจากประธานมีภารกิจส่วนตัวไม่สามารถบริหารงานได้ (วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)



3.2 การรื้อฟื้นกลุ่ม

พ.ศ. 2536 พ่อค้าจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด หาซื้อผ้าเก่าซึ่งชาวบ้านได้ขายผ้าเก่าเกือบหมดในราคาถูก นางวันทา เผือกผ่อง มีความเสียดายจึงคิดริเริ่มฟื้นฟูกลุ่มทอผ้าขึ้นใหม่และได้นำแม่บ้านไปร่วมกิจกรรมที่อำเภอหันคา โดยแต่งกายด้วยผ้าลายโบราณเหมือนกันหมด จำนวน 55 คน ผู้คนที่เห็นชื่นชมผ้าทอลายโบราณมาก ผ้าลายโบราณประกอบด้วย ผ้ามัดหมี่สลับขิด และผ้าตีนจก จึงได้จัดกลุ่มทอผ้าขึ้นมาอีกครั้ง( วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)

พ.ศ. 2537 อุตสาหกรรมจังหวัด สนับสนุนกี่ทอผ้าจำนวน 10 หลัง และวัสดุ โดยมีสถานที่ตั้งกลุ่มอยู่ที่บ้านนางฟัก สีวันนา บริหารงานได้ 1 ปี ก็หยุดกิจการชั่วคราว เพราะน้ำท่วมที่ทำการกลุ่มทอผ้า กี่ทอผ้าและวัสดุเสียหายจำนวนมาก



3.3 พัฒนากลุ่มทอผ้า

3.3.1 พัฒนาด้านเครื่องมือ/สถานที่/การสนับสนุนจากภาครัฐ

พ.ศ. 2540 ได้ย้ายกลุ่มทอผ้ามาที่บ้านเลขที่ 93 หมู่ 6 บ้านหนองระกำ ซึ่งบ้านของ นางวันทา เผือกผ่อง ประธานกรรมการบริหาร สมาชิกได้ร่วมก่อสร้างชั่วคราว โดยพ่อบ้านช่วยก่อสร้าง ไม่มีค่าจ้างแรงงาน ใช้สังกะสีเก่า ๆ มุงหลังคา สมาชิกลุ่มมีจำนวน 7 คน มีกี่ 7 หลัง ต่อมาเมื่อสมาชิกเพิ่มขึ้นกลุ่มได้ยืมกี่จาก ร.ร. ชุมชนวัดเนินขาม (ปัจจุบันคือ ร.ร. อนุบาลเนินขาม ) จำนวน 9 หลัง รวม 16 หลัง

พ.ศ. 2541 กลุ่มได้มีโอกาสต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะนั้น (นายอนุกุล คุณาวงษ์) ซึ่งมองเห็นความพร้อมของสมาชิก จึงมอบให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยนาท สนับสนุนโดยของบประมาณโครงสร้างกระตุ้นเศรษฐกิจจากสำนักงานปกครองจังหวัดชัยนาท สร้างอาคารจำนวนหนึ่งหลัง เป็นเงิน 300,000 บาท ต่อมาสมาชิกกลุ่มและจำนวนกี่กระตุกมีจำนวนมากขึ้น นางวันทา เผือกผ่อง จึงใช้เงินส่วนตัวสร้างอาคารชั่วคราวเพิ่มอีก 1 หลัง

พ.ศ. 2542 กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดชัยนาท โดยของบประมาณจากโครงการมิยาซาวา ต่อเติมอาคาร และห้องโชว์ผลิตภัณฑ์พร้อมตู้โชว์ผลิตภัณฑ์ ติดตั้งพัดลม และไฟฟ้า จำนวน 300,000 บาท และสำนักงานอุตสาหกรรมสนับสนุนกี่กระตุก จำนวน 5 หลัง

พ.ศ. 2543 กลุ่มได้รับการส่งเสริมจากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชัยนาท โดยมอบวัสดุ คือ ด้าย อุปกรณ์การสอนทอผ้า พร้อมทั้งสนับสนุนวิทยากรสอนการทอผ้า 1 รุ่น จำนวน 25 คน

พ.ศ. 2544 กลุ่มได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อสังคม ได้แก่ การสร้างกี่กระตุก จำนวน 10 หลัง พร้อมวัสดุอุปกรณ์ วิทยากรสอนการทอผ้า และได้รับการส่งเสริมจากงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยนาทโดยสร้างกี่กระตุก 5 หลัง ปัจจุบันกลุ่มมีกี่กระตุก จำนวน 36 หลัง (วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)



3.3.2 พัฒนาการด้านการบริหารงาน

(1) รายได้และเงินทุน ระยะแรกสมาชิกกลุ่มมีรายได้จากการทอผ้าประมาณ 1,500 – 2,000 บาท/คน/เดือน หลังจากกลุ่มได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์อย่างจิงจัง ทำให้รายได้การจำหน่ายเพิ่มขึ้นคือประมาณ 3,000 – 5,000 บาท /คน/เดือน หรือประมาณ 3,000 – 9,000 บาท/คน/เดือน (ตามฤดูกาล) สมาชิกจะมีรายได้ตามจำนวนที่ทอ กลุ่มจะหักรายได้จากการจำหน่าย ผืนละ 10 บาทเพื่อเข้ากองทุนกลุ่มโดยจัดสรรดังนี้

(1.1) ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ร้อยละ 80

(1.2) ใช้ซ่อมแซมครุภัณฑ์ ร้อยละ 10

(1.3) ใช้เป็นสวัสดิการแก่สมาชิก ร้อยละ 10

ปัจจุบันกลุ่มทอผ้า มีเงินทุนหมุนเวียน 30,000 บาท และได้กู้เงินจากเงินทุนแม่บ้านเกษตร จังหวัดชัยนาท 10,000 บาท เพื่อให้สมาชิกกู้ลงทุนซื้อวัสดุในการทอผ้าคนละ 2,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 12 บาท/ปี แบ่งเป็นดอกเบี้ยเพื่อกองทุนเกษตรร้อยละ 6 บาท/ปี ดอกเบี้ยกลุ่มร้อยละ 6 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน



(2) การตลาด คณะกรรมการจะเป็นผู้รับใบสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วกระจายงานให้สมาชิกทอผ้าตามความถนัดของแต่ละคน โดยในกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่ดังนี้

(2.1) สมาชิกทอผ้าไหม จำนวน 6 คน

(2.2) สมาชิกทอผ้าฝ้าย จำนวน 4 คน

(2.3) สมาชิกทอไหมปะดิษฐ์ จำนวน 14 คน

กรณีมีใบสั่งสินค้าจำนวนมากและลูกค้าต้องการเร่งด่วน คณะกรรมการจะส่งงานให้กับเครือข่ายกลุ่มอาชีพ คือ กลุ่มทอผ้าหมู่ที่ 5 ,9 และ 17

นอกจากนี้ในการจำหน่ายผ้าทอนั้น คณะกรรมการบริหารจะหาตลาดทั้งภายในจังหวัดชัยนาท ต่างจังหวัด และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในที่ต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงาน ภาครัฐ/เอกชนสนับสนุน





(3) ด้านการประชาสัมพันธ์

(3.1) คณะกรรมการจะเน้นให้สมาชิกทุกคน สวมใส่เสื้อทีมและผ้าทอจกหรือมัดหมี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อการประชาสัมพันธ์ในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยง หรือการฝึกอบรม

(3.2) สื่อหนังสือพิมพ์หรือทีวีรายการต่าง ๆ เชิญสัมภาษณ์ก็จะสวมใส่ชุดซึ่งเป็นผ้าพื้นเมือง และนำผลิตภัณฑ์ไปแสดงโชว์ มีผู้สนใจโทรศัพท์สอบถามเป็นจำนวนมาก รายการทีวีที่ออกอากาศคือ รายการบ้านเลขที่ 5 ,ด้วยลำแข้ง , โบนัสเกมส์ ช่อง 7 , หนึ่งนาที หนึ่งผลิตภัณฑ์ ช่อง 3 และตามไปดูผู้แทน ช่อง 11

(3.3) หน่วยงานราชการของจังหวัดชัยนาท สั่งทอผ้าของกลุ่มเพื่อไปตัดเสื้อทีม เป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง (วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)

3.3.3 พัฒนาการด้านอุปกรณ์ทอผ้า

กลุ่มทอผ้าบ้านหนองระกำ ใช้กี่ในการทอผ้า 2 ชนิด

(1) กี่พื้นเมือง กี่พื้นเมือง เป็นโครงไม้ขนาดเล็กกว่ากี่กระตุก ประกอบด้วยฟืมและอุปกรณ์ในการทอเช่นเดียวกับกี่กระตุก ต่างกันตรงที่กี่พื้นเมืองใช้มือพุ่งกระสวยสลับไปมาซ้ายขวา (ไม่มีเชือกกระตุก) คือ ถ้ามือซ้ายพุ่งกระสวยมือขวาก็จับฟืมกระแทกถ้ามือขวาพุ่งกระสวย มือซ้ายก็จับฟืมกระแทกสลับไปมาเช่นนี้เรื่อย ๆ การทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองจะใช้เวลานานกว่ากี่กระตุก เนื้อผ้าเรียบเนียนแลดูสวยกว่าผ้าที่ทอจากกี่กระตุก กี่ชนิดนี้ทอผ้าได้ทุกประเภททั้งผ้าผืน ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด และผ้าจกช่างทอจะใช้กับการทอที่มีลวดลายสลับซับซ้อน เช่น ทอจกและทอขิด

(2) กี่กระตุก เป็นโครงไม้ขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยฟืมและอุปกรณ์ในการทอ ช่วงบนมีสายโยงตะกรอกับโครงบน และช่วงล่างมีเชือกโยงตะกรอกับเท้าเหยียบเพื่อแยกเส้นด้ายยืน ช่วงบนจะมีสายกระตุกเวลาทอใช้มือขวาดึงสายกระตุก กระสวยจะพุ่งผ่านด้ายยืนที่แยกไปตามราง มือซ้ายดึงฟืมกระแทกเส้นด้ายทำให้ผ้าเนื้อแน่น การทอกี่กระตุกมือทั้งทั้งสองและเท้าจะต้องสัมพันธ์กันเป็นจังหวะการทอด้วยกี่กระตุกกี่พื้นเมือง ใช้สำหรับการทอผ้าผืนและผ้ามัดหมี่ที่ไม่มีลวดลายซับซ้อน (วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)

3.3.4 พัฒนาการการใช้ด้ายทอผ้า

กลุ่มทอผ้าบ้านหนองระกำทอผ้า 3 ชนิด

(1) เส้นใยฝ้าย สมัยก่อนกลุ่มจะใช้เส้นใยฝ้ายจากธรรมชาติ ซึ่งมีขั้นตอนในการทำให้เป็นเส้นใย (ด้าย) ยากมากมีกรรมวิธีในการทำเส้นใยฝ้ายดังนี้

(1.1) เก็บดอกฝ้ายที่มีอายุประมาณ 11 เดือน ดอกฝ้ายที่แก่จัดมาตากแดดให้แห้งประมาณ 4-5 วัน

(1.2) แยกเฉพาะปุยฝ้ายออกจากเมล็ดฝ้าย โดยนำมาอิ้ว (ปั่นด้วยเครื่องหมุนทำด้วยไม้)

(1.3) นำมาดีดฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายฟูขึ้น (ที่ดีดฝ้ายลักษณะคล้ายธนู) แล้วนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย (เข็นฝ้าย)

(1.4) นำเส้นด้ายมาหมุนให้เป็นใจ (เรียกว่าการกวักหรือเปีย) แล้วนำมาต้มกับข้าว ขยำให้ได้ที่จะทำให้ด้ายเหนียวไม่ขาดง่าย แล้วนำมาตากแดด

(1.5) นำมาฟอกสี ย้อมสี ก่อนจะย้อมสีด้วยวัสดุจากธรรมชาติ

(1.6) กรอด้ายเข้าหลอดด้ายยืน และด้ายพุ่ง เดินด้ายเข้ากี่ เก็บตะขอแล้วนำมาทอเป็นผืนผ้า

(2) เส้นด้ายจากไหม

(2.1) ปลูกต้นหม่อนเพื่อนำไปให้ไหมกิน จนตัวไหมแก่

(2.2) นำรังไหมไปต้มในหม้อน้ำร้อน สาวเส้นไหมออกจากรังไหม

(2.3) ตีเกลียวไหม ควบเส้นไหม ฟอกกาวไหม

(2.4) ย้อมสี แล้วนำไปทอเป็นผ้า















(3) เส้นใยสังเคราะห์

เป็นชื่อเรียกของผู้ทอผ้าทั่ว ๆไป ใช้เรียกชื่อเส้นใยกึ่งสังเคราะห์ที่ผลิตจากเซลลูโลสของพืช เช่น เนื้อไม้และเศษฝ้ายและเส้นใยสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางเคมี จากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จนเป็นเส้นใย ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านหนองระกำ สั่งซื้อเส้นใย (ด้าย) ทั้งเส้นใยฝ้าย เส้นใยไหม และใยสังเคราะห์จาก อ.ชนบท จ.ชัยนาท โดยกลุ่มสั่งซื้อเส้นใย (ด้าย) เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับสมาชิก สาเหตุที่ซื้อเส้นใย (ด้าย) เนื่องจาก สะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนกว่าการทำเส้นใยเอง ประกอบกับพื้นที่ในการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมน้อยลงทุกที (วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)

3.3.5 พัฒนาการการใช้สีย้อมผ้า

(1) สีจากธรรมชาติ

สมัยก่อนกลุ่มจะมีการใช้สีจากธรรมชาติในการย้อมด้ายสีที่ทางกลุ่มใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีดำ สีส้ม สีน้ำเงิน และสีน้ำตาล โดยทางกลุ่มจะใช้พืชจากราก แก่น เปลือก ผล ดอก และจากมูลสัตว์บางชนิด นำมาทำตามกรรมวิธีจนได้สีต้องการ แล้วนำมาย้อมด้าย มีรายละเอียดดังนี้



สีแดง ได้มาจาก มูลครั่ง (เป็นสัตว์) แก่นฟาง

สีเหลือง ได้มาจาก แก่นยอ แก่นขนุน

สีเขียว ได้มาจาก เปลือกต้นมะริด เปลือกต้นสมอ

สีส้ม ได้มาจาก ลูกสะตี

สีดำ ได้มาจาก ลูกมะเกลือ

สีน้ำเงิน ได้มาจาก ต้นคราม

สีน้ำตาล ได้มาจาก ลูกพลับ เปลือกโกงกาง

















(2) สีวิทยาศาสตร์

ปัจจุบันกลุ่มใช้สีวิทยาศาสตร์ในการย้อมด้าย เนื่องจากราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ย้อมง่ายไม่ยุ่งยาก ประหยัดเวลา มีสีให้เลือกมากตรงกับความต้องการของผู้ทอ (วันทา เผือกผ่อง และผู้ร่วมเวทีประชาสังคม 3 เมษายน 2546)

























บทที่ 4

ภูมิปัญญาท้องถิ่น





ทำเนียบภูมิปัญญาท้องถิ่น



ชื่อ - นาสกุล สาขา ที่อยู่

นางวันทา เผือกผ่อง ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 93 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางเสงี่ยม บัวชื่น ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 2 ม.1 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางมนเฑียร พุ่มจำปา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 17 ม.2 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

สิรินทร์ทิพย์ สิงห์สม ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 64 ม.1ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางนวล ศรีวันนา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 12/1 ม.5 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางบังอร พุ่มจำปา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 57 ม.9ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางสมบูรณ์ สุดจันทร์พิพัฒน์ ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 38 ม.5 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางไล พุ่มจำปา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 36 ม.9 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางบำรุง ศรีวันนา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 135/1 ม.9 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางฝัน จันทรอาภา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 22 ม.2 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางสนิท ปิ่นสุวรรณ ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 34 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางฝัก ศรีวันนา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 45 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางฝน โฉมเชิด ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 45 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางเผือก ปิ่นสุวรรณ ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 34 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางสมนีก บุญเงิน ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 34/1 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท


นางสายบัว เวียงจันทร์ ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 22 ม.2 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท

นางสุดา พุ่มจำปา ศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ 44 ม.6 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท


















สาขาศิลปหัตถกรรมและสิ่งทอ

นางวันทา เผือกผ่อง



เกิดวันที่ 2 มิถุนายน 2490 อายุ 62 ปี

ที่อยู่ 93 หมู่ที่ 6 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท

โทรศัพท์ 0-5645-1227, 08-1786-9700



ชีวิต การศึกษา และการทำงาน



นางวันทา เผือกผ่อง จบการศึกษาชั้น ป.4 ที่โรงเรียนอนุบาลเนินขาม จบมัธยมปลายที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จบคอมพิวเตอร์หลักสูตรระยะสั้น ที่วิทยาลัยการอาชีพเนินขาม เมื่อเรียนหนังสืออยู่ชั้น ป.4 เริ่มหัดทอผ้ากับคุณแม่ เมื่อจบโรงเรียนชั้น ป.4 ไม่ได้ศึกษาต่อทอผ้าอยู่กับบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปวัฒนธรรมการแต่งกายและภูมิปัญญาการทอผ้าก็เริ่มจะหายไป นิยมไปหลงใหลใส่ผ้าจอเจีย ผ้าซีฟองจนเกือบลืมผ้าไทย ด้วยความรักและหวงแหนในภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยที่สร้างสมมา จึงเริ่มรื้อฟื้นการทอผ้าขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.2519 ก็เริ่มนั่งทอผ้าอยู่กับบ้านเพื่อเลี้ยงลูกชายคนโตด้วยจนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับของคนในหมู่บ้าน และได้สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาการทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัด หรือระดับประเทศ



องค์ความรู้



เป็นคนคิดริเริ่มค้นคว้าภูมิปัญญาการทอผ้าเมื่อสมัยปู่ย่า ตายาย นำมาปรับใช้ เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวเส้นไหมเอง ย้อมด้วยสีธรรมชาติ จากเปลือกประดู่ฝาง เปลือกมังคุด ใบดอกแก้ว นะนำวิธีการ และเทคนิคการย้อมผ้า ทำให้ได้สีสวยสดใส คงทน





ด้วยภูมิปัญญาที่สะสมไว้ บวกกับการเป็นผู้นำสตรีจึงมีโอกาสรวมกลุ่มทอผ้าขึ้นมาจากกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นกลุ่มใหญ่ มีอาคารอย่างถาวร สร้างเครือข่าย ขยายกลุ่มทอผ้าในชุมชนจนกลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในผลงานของหน่วยราชการ ผลงานด้านการคิดค้นลายผ้าใหม่ๆ และลายผ้าเก่าโบราณนำมาพัฒนาปรับปรุงใหม่ให้เหมือนผ้าเก่า ทำให้มีสีสันสวยงามมีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยสีธรรมชาติของผ้าทอเนินขาม

- รางวัลที่ภูมิใจในการทำงานได้ส่งผ้าไหมมัดหมี่ลายนาค 2 หัว เข้าประกวดระดับประเทศ ได้รับโล่รางวัลชมเชยพร้อมใบเกียรติบัตรจากท่านนายทักษิณ ชินวัตร

- ผลการยอมรับของหน่วยราชการจังหวัดชัยนาทให้เป็นสินค้า (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) และได้รับการคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชน(OTOP) ระดับ 4 ดาว

- ได้รับโอกาสอันสูงค่าในการได้ทอผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณ 9 ผืน 9 ลาย ทูลกล้า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาท ในวันที่ 12 สิงหาคม 1247



ผลงานที่ภาคภูมิใจที่ได้รับการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ (OTOP) ดีเด่นระดับภาคของธนาคารออมสินให้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น พักที่เมืองโอซาก้า ไปดูงานที่เมืองโออีตะ เป็นเวลา 17 วัน

- ได้รับเกียรติจากท่านนายกเหล่ากาชาดให้จัดสรรผ้าไหมมัดหมี่ลายโบราณให้กับนางแบบ ทุกคนที่เดินแฟชั่นผ้าไทยชัยนาท

- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion (OVC) 1 ใน 80 ระดับประเทศโดยผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาค จนถึงระดับประเทศ





ลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง



ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาในขั้นตอน วิธีการสาวเส้นไหม การค้นไหม การมัดหมี่

เทคนิค การให้สีธรรมชาติ

- วิธีการถ่ายทอดลงไปสอนในพื้นที่ให้กับกลุ่มอาชีพที่สนใจใฝ่เรียนใฝ่รู้ยังต่างตำบลและต่างจังหวัดในการทอผ้าไหม มัดหมี่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ

- บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนที่วิทยาลัยการอาชีพเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท

- เปิดศูนย์เรียนรู้คู่กับชุมชนที่กลุ่มทอผ้าให้กับผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลและขั้นตอนและวิธีทำในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ทุกขั้นตอน













สาขาศิลปะหัตกรรมและสิ่งทอ

นางเสงี่ยม บัวชื่น



เกิดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2586 อายุ 66 ปี

ที่อยู่ 2 หมู่ 1 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท

โทรศัพท์ 056 – 435105



ชีวิต การศึกษา และการทำงาน



เกิดที่บ้านเนินขาม เติบโตที่บ้านเนินขาม จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ที่โรงเรียนวัดเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ประกอบอาชีพทำไร่ – ทำนา หลังจากว่างงานก็จะมาทอผ้า สาวไหม และย้อมสีผ้า นอกจากการทอผ้าพื้นเมืองแล้ว ยังมีการทำเสื้อลาวนำมาขายเพื่อที่จะเป็นรายได้เสริม



องค์ความรู้



นางเสงี่ยม บัวชื่น ได้คิดลายผ้าขึ้นเอง และใช้การจดจำในการทอผ้า และจำลายผ้ามาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย และยังทอผ้าด้วยประณีต ลวดลายที่ได้สวยงามมีความละเอียด และปัจจุบันยังคิดที่จะทำลายผ้าไหมให้สวยมากกว่าเดิม



ผลงาน



- ทอผ้าพื้นเมืองออกจำหน่าย ขายปลีก และส่งตามร้านค้า

- นำผ้าไหมผ้าฝ้ายที่ทอไว้นำมาตัดเป็นชุดเพื่อออกจำหน่าย

- เป็นสมาชิกทอผ้าที่ หมู่ 6 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ทอผ้าพื้นเมืองออกจำหน่าย มีผลงานอยู่ที่กลุ่มทอผ้า นางวันทา เผือกผ่อง











ลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง



ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาในขั้นตอน วิธีการ สาวเส้นไหม การค้นไหมการมัดหมี่ เทคนิคการให้สีธรรมชาติ กับบุคคลที่สนใจ และอยากเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ

























































สาขาศิลปะหัตกรรมและสิ่งทอ

นางสิรินทิพย์ สิงห์สม



เกิดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2516 อายุ 36 ปี

ที่อยู่ 64 หมู่ 1 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท

โทรศัพท์ 081 – 7732425



ชีวิต การศึกษา และการทำงาน



จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ประกอบอาชีพทำไร่ – ทำนา หลังจากว่างงานก็จะมาทอผ้าไหม ผ้าผืนเมือง

ที่บ้าน เพื่อเป็นรายได้เสริม



องค์ความรู้



นางสิรินทิพย์ สิงห์สม ได้รับความรู้สืบถอดมาจากปู่ ย่า ตา ยาย และยังคิดลายผ้า สีผ้าที่จะนำมาย้อมผ้าให้มีความแตกต่างจากที่อื่น และยังทอผ้าอย่างประณีตที่สุดเพื่อความสวยงามของผ้า



ผลงาน



- ทอผ้าไหมออกจำหน่าย ขายปลีก และส่งตามร้านค้า

- นำผ้าไหมผ้าฝ้ายที่ทอไว้นำมาตัดเป็นชุดเพื่อออกจำหน่าย และใส่เอง

- เป็นสมาชิกทอผ้าที่ หมู่ 6 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท ทอผ้าพื้นเมืองออกจำหน่าย มีผลงานอยู่ที่กลุ่มทอผ้า นางวันทา เผือกผ่อง













ลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง



ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาในขั้นตอน วิธีการสาวเส้นไหม การค้นไหม การมัดหมี่ ถ่ายทอดลงไปสอนในพื้นที่ให้กับกลุ่มอาชีพที่สนใจใฝ่เรียนใฝ่รู้ที่บ้าน ต่างตำบล และต่างจังหวัดในการทอผ้าไหม มัดหมี่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ























































สาขาศิลปะหัตถกรรมและสิ่งทอ

นางมนเทียร พุ่มจำปา





เกิดวันที่ 18 สิงหาคม 2513 อายุ 39 ปี

ที่อยู่ 17 หมู่ 2 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท

โทรศัพท์ 089 – 5676821



ชีวิต การศึกษา และการทำงาน



เรียนจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเนินขามรัฐประชานุเคราะห์ กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท อาชีพก็ทำนา เวลาว่างๆ ก็ทำหมอนขวาน สืบสานงานทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองจากมารดาด้วยใจรักในงานศิลป์บนผืนผ้า และได้คิดพัฒนาลวดลายผ้าขึ้นเอง



องค์ความรู้



ได้รับความรู้สืบสานมาจากมารดา คือ นางสาวน้อย พุ่มจำปา มารดาได้สอนวิธีการทำหมอนขวานและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์



ผลงาน



ได้ทำหมอนขวานไว้หลายขนาดและได้นำไปโชว์ที่งาน เมืองทองธานี งานสวนนกชัยนาท เป็นสินค้า (OTOP) และอีกหลายๆงาน





ลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง



ถ่ายทอดให้บุคคลที่อยากจะเรียนรู้วิธีการทำหมอนขวาน สอนด้านการทอผ้าให้กับกลุ่มทอผ้ากุดจอก เป็นวิทยากรทางด้านลายมัดหมี่ สอนการทอกี่กระตุก และเทคนิคการย้ายสีและการเย็บหมอนขวาน ที่หมู่บ้านกุดจอก อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท สอนการทอผ้ากี่กระตุกให้กับนักเรียนวัดเนินขาม เป็นวิทยากรสอนการทอผ้ากี่กระตุก ที่หมู่บ้านหนองพัน อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้มีอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ที่มีความสนใจในการทอผ้ากี่กระตุกและลายต่างๆ และการย้อมสีผ้า มารับการถ่ายทอดความรู้ที่บ้านเป็นประจำ





























































สาขาศิลปะหัตถกรรมและสิ่งทอ

นางสายบัว เวียงจันทร์





เกิดวันที่ 28 ธันวาคม 2579 อายุ 73 ปี

ที่อยู่ 22 หมู่ 2 ตำบล เนินขาม อำเภอ เนินขาม จังหวัดชัยนาท

โทรศัพท์ 085 – 2684536



ชีวิต การศึกษา และการทำงาน



จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท เริ่มหัดทอผ้ากับแม่ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้ศึกษาต่อและได้ทอผ้าอยู่กับบ้านของตนเอง ด้วยรักและหวงแหนในภูมิปัญญาไทยและวัฒนาธรรมที่สร้างกันมา จึงริเริ่มรื้อฟื้นการทอผ้าขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันได้ทำไร่ ทำนา เวลาว่างๆ ก็มาทอดผ้าหรือหลังจากที่เสร็จงานจากไร่ – นา



องค์ความรู้



ได้รับความรู้มาจากปู่ย่า ตายายวิธีการมัดหมี่ทอผ้าไหมและวิธีการย้อมผ้าที่ได้สีที่ออกมาดูดีต้องใช้เปลือกไม้อะไรเพื่อที่จะได้ออกมาเป็นสีที่เราต้องการ และวิธีการมักสีย้อมต้องใช้เวลากี่วันกี่ชั่วโมงถึงจะได้สีที่ต้องการ



ลักษณะการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นหลัง



ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาในขั้นตอน วิธีการ สาวเส้นไหม การค้าไหมการมัดหมี่เทคนิค การให้สีธรรมชาติ วิธีการถ่ายทอดลงไปสอนในพื้นที่ให้กับกลุ่มอาชีพที่สนใจใฝ่เรียนใฝ่รู้ ยังตำบลต่างๆและต่างจังหวัดในการทอผ้าไหมหมัดหมี่ทุกขั้นตอนและการย้อมด้วยสีธรรมชาติ















































คุณชอบหนังสือประเภทใด

เอกสารดาวน์โหลด

ข่าวสด

ข่าวไทยรัฐ

ผู้บริหารสถานศึกษา

ผู้บริหารสถานศึกษา
นางอุษา กุลสราวุธ